วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การวางทุกข์ การกำจัดทุกข์จากใจ เรื่องง่ายๆ แต่ทำยากๆ


“การกำจัดทุกข์ ก็ต้องกำจัดตรงสาเหตุของทุกข์
สาเหตุของทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล อยู่ในใจเรา 
การวางทุกข์ลง ก็เหมือนกับเราหิ้งถุงหนักๆ แล้ววางมันลง  
การวางถุงนั้นง่าย แต่การวางทุกข์เรากลับทำได้ยาก 
สำหรับผู้ที่ฝึกตนเอง เรื่องยากๆ ก็ง่ายขึ้นได้”
 มีน้องคนหนึ่งเคยมาเรียนสมาธิ และถามว่า “พี่คะ ถ้าหนูมาเรียนสมาธิที่นี่ แล้วหนูจะสามารถลืมเรื่องที่ไม่อยากจำได้ไหม”  จากคำถามก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีเลยว่าน้องคนนี้คงจะมีทุกข์มาก จนลืมไม่ลง และอยากลืมมันออกไปจากใจให้ได้
ผมแสดงความเห็นใจ และถามน้องกลับไปว่า “จำเป็นต้องลืมด้วยเหรอ”น้องเขาคงจะงง ผมก็อธิบายต่อไปว่า “ถ้าเรารู้ และเข้าใจ บางครั้งเราอาจไม่จำเป็นต้องลืมก็ได้นะ”ความเห็นของผมก็คือ ถ้าเรามีสติ รู้ทันทุกข์ ทุกข์มันก็หายไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปพยายามลืม
ความทุกข์ที่เป็นความทุกข์ได้เพราะใจของเราคิดว่ามันเป็นทุกข์ เหตุการณ์เดียวกันอาจเป็นทุกข์สำหรับคนหนึ่ง แต่อาจไม่มีผลใดๆเลยกับคนอีกหลายๆคน นี่คือสิ่งพิสูจน์ว่าทุกข์เกิดเพราะใจของผู้ที่เป็นทุกข์นั้นคิดว่ามันเป็นทุกข์ เช่น สุนัขที่เราเลี้ยงไว้ถูกรถชน เราอาจจะเป็นทุกข์มาก แต่เหตุการณ์นี้อาจไม่มีผลดใดๆเลยกับคนที่เดินผ่านไปมา
รู้ทั้งรู้ว่า ความทุกข์มันเกิดที่ใจเรา แล้วทำไมเราตัดมันไม่ได้ ?
ที่เราตัดมันไม่ได้ เพราะ เราห้ามความคิดไม่ได้หรือตัดอารมณ์ของเราเองไม่ได้ เช่น เมื่อเราสูญเสียของที่เรารัก เราก็จะคิดซ้ำๆถึงแต่ของที่เรารัก พอคิดซ้ำๆ 100 ครั้ง 1000 ครั้ง ก็เหมือนกับเราเสียของที่เรารักไป 100 ครั้ง 1000 ครั้งเช่นกัน  หรือ เมื่อมีคนทำให้เราโกรธหรือเจ็บช้ำน้ำใจ เราก็จะมัวคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆหลายๆครั้ง ทำให้เรายิ่งเครียดแค้น และอยากจะล้างแค้น ตัวการที่ทำให้เราตัดความทุกข์ไม่ได้ก็คือการคิดซ้ำๆนี่แหละ การคิดซ้ำๆในทางลบ ก็จะเกิดพลังในทางลบ ทำให้เรายิ่งเศร้า ยิ่งโกรธ ยิ่งหดหู่
แล้วเราจะตัดหรือวางความทุกข์นี้ได้อย่างไร ?
สำหรรับคนที่ฝึกจิตด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ การวางความทุกข์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก มันง่ายเหมือนกับการที่เราหิ้วถุงหนักๆอยู่ แล้วเราก็วางลงได้ทันที ความหนักก็ไม่อยู่ติดตัวเราอีกต่อไป แต่สำหรับคนที่ไม่เคยฝึก เรื่องง่ายๆแบบนี้อาจทำไม่ได้เลย จำทำให้เป็นทุกข์มาก เครียด นอนไม่หลับ และเกิดปัญหาต่างๆตามมาอีกมากมาย
“เวลาที่เราจะจมน้ำ ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาหัดว่ายน้ำ” บางทีเราไม่เคยสนใจเรื่องการฝึกจิต หรือฝึกใจเราให้แข็งแรงเลย พอเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นมาในชีวิต ก็อาจทำให้เรารับไม่ได้ ทำให้ชีวิตย่ำแย่ไปเลยก็มี คำแนะนำของผมก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองมีทุกข์ก่อน แล้วค่อยฝึกใจตัวเองให้แข็งแรง เราสามารถฝึกได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับคนที่ไม่เคยฝึกจิตมาเลย ผมอยากแนะนำให้อ่านเรื่อง รู้จักใจ ที่ผมเคยเขียนไว้ก่อน ท่านจะได้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับใจของตน เมื่อท่านอ่านแล้ว ท่านก็จะรู้ว่าใจของเราต้องกินอาหาร และอาหารของใจก็คืออารมณ์ ถ้าใจได้รับอารมณ์ดี ก็จะมีความสุข ถ้าใจรับอารมณ์ไม่ดี ก็จะมีความทุกข์ เมื่อเรารู้พื้นฐานตรงนี้แล้ว เราก็แค่เอาอารมณ์ดีให้ใจกิน ความทุกข์ก็จะค่อยๆหมดไป
จะเอาอารมร์ดีมาจากไหนให้ใจกิน ?
“พุทโธ” คือคำตอบ คือแทนที่เราจะคิดถึงความทุกข์หรือเรื่องราวที่ทำให้เราเกิดทุกข์ ให้เรานึก “พุทโธ พุทโธ พุทโธ ๆๆๆๆ” ในใจแทน  จำไว้ว่าเมื่อไหร่จะคิดถึงทุกข์ ให้เปลี่ยนเป็นนึก”พุทโธ” เพียงง่ายๆแค่นี้ นอกจากท่านจะไม่ต้องตอกย้ำความทุกข์ลงไปในใจ การนึกพุทโธ จะทำให้ใจของท่านค่อยๆนิ่ง และทำให้ใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
แน่นอนครับ ช่วงแรกๆของการนึกพุทโธ จะรู้สึกอึดอัด นึกได้แป๊บเดียว ก็จะกลับไปคิดถึงความทุกข์อีก ให้ลองพยายามทำให้ได้ ถ้ามีความทุกข์เข้ามามาก ก็ให้เรานึกพุทโธให้มากขึ้น นึกเร็วๆมากขึ้น เหมือนพุทโธเป็นกระสุนยิงความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในใจ ลองดูครับ แล้วจะค่อยๆดีขึ้น
 สุดท้ายนี้ ผมก็หวังว่า บทความนี้จะช่วยนำเสนอวิธีกำจัดทุกข์ออกจากใจให้กับท่านได้บ้าง และทำให้ทุกข์ในใจของท่านค่อยๆหมดไป

การตำหนิติเตียน ธรรมโอวาท พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


“การตำหนิติเตียนผู้อื่น
ถึงแม้ถึงเขาจะผิดจริงหรือไม่ผิ
ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
และเป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์
เพราะฉะนั้นควรพิจารณาตัวเองจะด๊กว่า”
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ธรรมโอวาทนี้ผมได้อ่านเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 18 เดือนที่แล้ว ตอนที่ผมสมัครเข้าเรียนหลักสูตรครูสมาธิที่ สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาภูเก็ต พอเดินเข้าสถาบัน ก็จะเห็นธรรมโอวาทนี้บนกระจก และนักศึกษาทุกคนในสถาบันก็จะจำธรรมโอวาทนี้ได้เป็นอย่างดี
แรกทีเดียว ด้วยความที่เป็นคนชอบคิด (อาจจะคิดแบบโลกแคบๆของเรา) ผมคิดแย้งในใจเสียด้วยซ้ำว่าไม่ควรเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่า ถ้าเราทำผิด แล้วไม่มีคนมาบอก เราจะรู้ตัวได้ไง อย่างนี้ก็น่าติ น่าจะเป็นการติเพื่อก่อ ติเพื่อให้คนได้พัฒนา
ผ่านไปปีครึ่ง หลังจากได้ศึกษาธรรมะของพระอาจารย์มากขึ้น โลกแคบๆของเราก็ค่อยๆเปิดกว้าง เรื่องบางอย่างที่ไม่รู้ ก็รู้ จากที่รู้ ก็กลายเป็นเข้าใจ จากเข้าใจ ก็กลายเป็นตระหนัก ในตอนนี้ผมคิดว่า พระอาจารย์มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ และรู้ถึงธรรมะอย่างลึกซึ้งซึ่งยากนักที่จะหาใครเปรียบ
ทุกครั้งที่จะต้องตำหนิติเตียนใคร ลองพิจารณาตนเองก่อนเถอะครับ บ่อยครั้งหรือเกือบทุกครั้ง เราก็จะพบสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่ในตัวเอง

คิดบวก ชีวิตบวก แนวคิด จากท่าน ว. วชิรเมธี


เวลาเจองานหนักให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ

เวลาเจอปัญหาซับซ้อนให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ

เวลาเจอความทุกข์หนักให้บอกตัวเองว่า นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต

เวลาเจอนายจอมละเมียดให้บอกตัวเองว่า นี่คือการฝึกตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ(perfectionist)

เวลาเจอคำตำหนิให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ

เวลาเจอคำนินทาให้บอกตัวเองว่า นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงมีความหมาย

เวลาเจอความผิดหวังให้บอกตัวเองว่า นี่คือที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิต

เวลาเจอความป่วยไข้ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี

เวลาเจอความพลัดพรากให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนของการรู้จักหยัดยืนด้วยขาตัวเอง

เวลาเจอลูกหัวดื้อให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสทองของการพิสูจนความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง

เวลาเจอแฟนทิ้งให้บอกตัวเองว่า นี่คือความเป็นอนิจจังที่ทุกชีวิตมีโอกาสพานพบ

เวลาเจอคนที่ใช่แต่เขามีคู่แล้วให้บอกตัวเองว่า นี่คือประจักษ์พยานว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง

เวลาเจอภาวะหลุดจากอำนาจให้บอกตัวเองว่า นี่คือความเป็นอนัตตาของชีวิตและสรรพสิ่ง

เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อนให้บอกตัวเองว่า นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม

เวลาเจอคนเลวให้บอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์

เวลาเจออุบัติเหตุให้บอกตัวเองว่า นี่คือคำเตือนว่าจงอย่าประมาทซ้ำอีกเป็นอันขาด

เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้งให้บอกตัวเองว่า นี่คือบททดสอบว่าที่ "มารไม่มีบารมีไม่เกิด"

เวลาเจอวิกฤตให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"

เวลาเจอความจนให้บอกตัวเองว่า นี่คือวิธีที่ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ชีวิต

เวลาเจอความตายให้บอกตัวเองว่า นี่คือฉากสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์

รักด้วยสมอง


       ความรักเป็นได้ทั้งความสุขและความทุกข์ เป็นทั้งความหวังและสิ้นหวัง เป็นทั้งอนาคตและมืดมิด ถ้ารักด้วยสมองความรักจะนำสิ่งดี ๆ มาให้ถ้ารักจนขึ้นสมอง ความรักจะนำสิ่งเลวร้ายมาให้แก่เรา
       ดังนั้น ความรักจะเป็นสิ่งที่ล้ำเลิศหรือความทุกข์ตรมขึ้นอยู่กับว่ารักด้วยสมอง หรือรักแบบขึ้นสมองและต้องไม่ยึดติดว่าความรักมีเพียงมิติเดียว คือความรักเชิงชู้สาวเท่านั้น แต่ความรักมีหลายมิติ เปรียบเสมือนบันไดต้องเดินขึ้นไปทีละขั้น จนถึงความหมายของความรัก นั่นคือความสุข ถ้ารักแล้วมีความทุกข์พัฒนาการของความรักยังไม่สมบูรณ์
        สำหรับความรักมี 4 แบบ คือ
1.  รักตัวกลัวตายรักชนิดนี้ถ้ามีมาก ๆ จะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว 
2.  รักใคร่ปรารถนาอิงกับสัญชาติญาณการสืบพันธุ์ ความรักชนิดนี้จะทำให้เกิดความลุ่มหลง กามารมณ์ หนุ่มสาวจะยึดความรักชนิดนี้เป็นที่พึ่งของชีวิตยึดติดความใคร่มาใช้ในนามของความรัก จนกลายเป็นความโลภ คือ อยากจะครอบครองใครสักคนให้อยู่ในความควบคุมของเราพอควบคุมไม่ได้ความรักก็กลายเป็นความร้ายเป็นโศกนาฏกรรมเช่นทำร้ายคนรัก เผยแพร่คลิปคนรัก สาดน้ำกรดคนรัก เป็นต้น
3. รักเมตตาอารีให้เห็นคนทั้งโลกว่าเป็นมิตรแก่เรา และ 
4. รักมีแต่ให้คือเป็นผู้ให้ รักปัญญาชนไม่คิดจะทำร้ายใคร ไม่หวังผล และพัฒนาจนปลายทางของความรักแท้

น่าเสียดาย

น่าเสียดายที่เรามีพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแต่เรากลับศรัทธาไสยศาสตร์หัวปักหัวปำ

น่าเสียดายที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่แสนดีแต่เรากลับมีคนโกงกิสเต็มบ้านเต็มเมือง

น่าเสียดายที่เรามีวัดวัดอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน/ตำบลแต่ว่ากลับมากด้วยคนขาดจริยธรรม

น่าเสียดายที่เราสถาปนาประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 แต่เรากลับมีรัฐประหารแล้ว 14 ครั้ง

น่าเสียดายที่เรามีมหาวิทยาลัยมากมายติดอันดับโลกแต่เรากลับโชคร้ายที่ชอบดูดวง

น่าเสียดายที่เรามีป่าไม้ แม่น้ำ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แต่เรากลับเทิดทููนการทำลายแทนการรักษา

น่าเสียดายทีเรามีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองแต่เรากลับเก่งการลอกเลียนแบบเป็นที่สุด

น่าเสียดายที่เรามีสื่อมวลชนมากมายไร้พรมแดนแต่เจ็บปวดเหลือแสนเมื่อมวลชนเน้นแต่การขายสินค้า

น่าเสียดายที่เรามีกฎหมายแต่เรากลับปล่อยให้มีการใช้กฎหมู่จนเป็นเรื่องธรรมดา

น่าเสียดายที่เรามีหนังสือมากมายหลายพันเล่มในห้องสมุดแต่สถิติสูงสุดคือการอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด

น่าเสียดายที่เรามี INTERNET ใช้ก่อนประเทศใดในโลกที่สามแต่เรากลับเสื่อมทรามเพราะเผยแพร่คลิปโป๊

น่าเสียดายที่เรามีสถานีโทรทัศน์หลายสิบช่องแต่เรากลับจ้องจะดูแต่ละครน้ำเน่า

น่าเสียดายที่เรามีพ่อแม่อยู่ในบ้านแต่เราปล่อยให้ท่านอยู่อย่างเปลี่ยวเหงา

น่าเสียดายที่เราสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้แต่เรากลับชอบใจที่จะเป็นคนเลวตลอดกาล

น่าเสียดายที่เราสามารถเป็นอิสระจากความอยากได้แต่เรากลับหายใจอยู่กับการสนองความอยากได้

น่าเสียดายที่เราบรรลุนิพพานได้ในชาตินี้แต่เรากลับยินดีอยู่แค่การทำบุญให้ทาน

คาถากันน้ำตาไหล


               ทำอย่างไรจะมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต   ให้สามารถรับมือได้ทั้งความสุขและความทุกข์ในราคาที่เสมอกัน   พระอาจารย์ขอแนะนำให้รู้จัก   คาถากันน้ำตาไหล   ดังต่อไปนี้

1. ไม่แน่ -ทุกอย่างในโลกนี้ตกอยู่ในความเปลี่ยนแปลงเสมอ  
     เหมือนคำกล่าวที่ว่า  " ความไม่แน่นอนนั่นก็คือความแน่นอนนั่นเอง "

2. ไม่ได้ดั่งใจ -ก็คือชีวิตของเรานั่นไม่เป็นไปตามที่เราเรียกร้องต้องการ   แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยมากมาย

3. ไม่มีอะไรสมบูรณ์ -ก็หมายความว่าชีวิตนี้จะไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง   แต่ก็ไม่มีใครที่พลาดหวังทุกอย่างไป
    " ไม่แน่  ไม่ได้ดั่งใจ  แล้วก็ไม่มีอะไรสมบูรณ์ "  
      
     ใครทำความเข้าใจทั้ง 3 วลีนี้   รับประกันได้ว่า   " น้ำตาไม่ไหล "  แน่นอน


วิธีเอาชนะความโกรธ


           หลายคนเวลาที่มีความโกรธเกิดขึ้นมักจะไม่รู้วิธีบริหารจัดการกับความโกรธ   จึงปล่อยให้ตัวเองรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับความโกรธ   และแทนที่จะจัดการกับความโกรธแต่กลับโดนความโกรธจัดการแทนพุทธศาสนาเสนอกุศโลบายคลายความโกรธเอาไว้ว่า  " ถ้าความโกรธเกิดขึ้นต้องจัดการกับความโกรธดังนี้ "

1. ต้อง " งดพูด
2. ต้อง " งดตัดสิน
3. ต้อง " ต้องเดินออกไปจากสถาการณ์ "
4. ต้อง " หาอะไรสักอย่างมาทำ "
5. ต้อง " นั่งสมาธิ
          ใครที่ทำได้ทั้ง 5 ประการนี้ จะเป็นฝ่ายที่จัดการกับความโกรธและไม่ถูกความโกรธจัดการอีกต่อไป

คำสอนของท่าน ว.วชิรเมธี


"จงเรียนรู้ที่จะอดทนและรอคอย ความดีอาจเห็นผลช้า แต่คุ้มค่ากับการรอคอยแน่นอน"
"อย่าอิจฉา คนเลวที่มีความสุข เพราะบั้นปลายของเขาคือ ความทุกข์ระทมแน่นอน"
"อุปสรรคไม่ใช่สิ่งขวางกั้นความสำเร็จ แต่มันคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ"
"ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เราเกิดความอบอุ่นและมั่นคง"
"ก่อนเลือกคู่ครอง ก่อนเลือกคู่รัก จงลืมตาทั้งสองข้าง แต่เมื่อเลือกไปแล้วจงปิดตาเสียข้างหนึ่ง"

1. อย่าเป็นนักจับผิด           
     คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง
" กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก"
     คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส "จิตประภัสสร" ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี
" แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข"

2. อย่ามัวแต่คิดริษยา               
" แข่งกันดี ไม่ดีสักคน       ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน"
    คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
    คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า "เจ้ากรรมนายเวร"  ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์  ฉะนั้น เราต้อง ถอดถอน
      ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น "ไฟสุมขอน" (ไฟเย็น) เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
    เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี "แผ่เมตตา" หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา
    แล้วปล่อยให้ลอยไป

3. อย่าเสียเวลากับความหลัง
     90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ "ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น"
    มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
     ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ "อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน"
" อยู่กับปัจจุบันให้เป็น"  ให้กายอยู่กับจิต  จิตอยู่กับกาย คือมี "สติ" กำกับตลอดเวลา

4. อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
" ตัณหา" ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่ เกินพอดี  เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ  ไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อธรรมชาติของตัณหา คือ " ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม"
    ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม  เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้
    ใส่เพื่อความโก้หรู  คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
     เราต้องถามตัวเองว่า "เกิดมาทำไม" " คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน" ตามหา "แก่น" ของชีวิตให้เจอ คำว่า "พอดี"  คือ ถ้า "พอ" แล้วจะ "ดี"    รู้จัก "พอ" จะมีชีวิตอย่างมีความสุข

หมดหวังท้อแท้ในชีวิต..คิดอย่างไรให้ใจสู้



ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของชีวิต..
หลายคนคงผ่านบทเรียนแห่งชีวิตมานับไม่ถ้วน..
ทั้งบทเรียนแห่งความผิดหวัง..
บทเรียนแห่งความท้อแท้..แพ้ชีวิต..
บทเรียนแห่งความสำเร็จ..

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนใด ๆ ก็ตาม..
เมื่อเราเกิดความผิดหวัง...ท้อแท้..ในชีวิต..
เราต้องพยายามปรับใจ..วางใจให้ถูก..
ด้วยวิธีการคิดที่จะปรับเปลี่ยน..ชีวิตของเรา..
ให้มีกำลังใจ..สู้ต่อไป..

๔ วิธีคิดที่จะสร้างพลังใจให้สู้ คือ..
วิธีที่ ๑ คิดแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกในขณะนั้น เช่น
>>>…ถ้าทุกข์ ก็คิดสร้างสุข
>>>…ถ้ายากก็คิดแบบง่าย...
>>>…ถ้าเกิดปัญหา ก็คิดแก้ปัญหา..

วิธีที่ ๒ คิดแบบสร้างกำลังใจ เช่น
>>>…ปลุกปลอบใจตนเอง...ทุกครั้งที่เกิดความท้อแท้..ผิดหวัง
>>>…บอกตนเองเสมอว่า..เราต้องทำได้..เราต้องทำได้อย่างแน่นอน..
>>>…เราต้องทำได้แน่นอนที่สุด..ไม่มีคำว่า..ทำไม่ได้..
>>>…ท่องไว้ในใจว่า..ไม่มี ไม่เป็น ไม่เหนื่อย...
>>>….ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ไม่หนี ไม่มีปัญหา...

วิธีที่ ๓ คิดแบบมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว..
>>>…หากยังไม่ประสบความสำเร็จ..
>>>…ก็จะไม่เลิก ลด ละ ความเพียรพยายาม..
>>>…จงสู้ต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ..
>>>…แม้จะเป็นวินาทีสุดท้ายของลมหายใจก็ตาม..

วิธีที่ ๔ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก..
>>>…มองปัญหาออก..แก้ปัญหาเป็น..
>>>…คิดการใหญ่...ใช้คนเป็น..รู้เห็นตามความถูกต้อง..
>>>…มุ่งปรองดอง...รักษาน้ำใจ..สร้างมิตรภาพ..
>>>…อย่าลืมว่า..ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ...
>>>…ต้องคิดดี..ทำดี..พูดดี..ทุกที่ทุกเวลา...

ดังนั้น..
ถ้าท้อแท้..หมดหวังในชีวิต..
จงพยายามคิดให้ใจสู้...
อย่าเชื่อว่า...เราทำไม่ได้..ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ..
อย่าท้อแท้..ตราบใดที่เรายังไม่ได้พยายาม..
อย่าสิ้นหวัง...ตราบใดที่เรายังมีกำลังใจ..
อย่าแพ้ชีวิต...ตราบใดที่ใจของเรายังมีหวัง..
จงอย่าทำลายความหวัง...เพียงเพราะ....
การดูหมิ่นตนเองว่า... ทำไม่ได้

เปลี่ยนวิธีเผชิญหน้ากับปัญหา


ครั้งหนึ่ง...
ขณะที่กำลังนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ อยู่ในสวนสาธารณะ
ฉันได้ยินเสียงร้องไห้ ดังใกล้เข้ามา
หลังจากเงยหน้าขึ้นมาดู
ก็เห็นผู้ชายวัยคุณพ่อคนหนึ่งกำลังปั่นจักรยานผ่านตรงหน้า
ตามหลังมาด้วยหนูน้อยเจ้าของเสียงอายุประมาณ 7-8 ขวบ
ที่ขานั้น...กำลังปั่นจักรยานคันน้อย
แต่ปาก...ก็ตะเบ็งเสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ
หวังจะให้คุณพ่อ หันกลับมาช่วย
จากการประเมินสถานการณ์
ฉันคิดว่าเด็กน้อยคนนี้กำลังอยากถอดใจ
เพราะคิดว่าตัวเองคงปั่นจักรยานต่อไปไม่ไหวแล้ว
แต่งานนี้- -ดูเหมือนคุณพ่อจะไม่ใจอ่อนง่ายๆ
กลับปั่นจักรยานของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนคุณลูก...ก็ตะเบ็งเสียงต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน
จนกระทั่ง อีกอึดใจหนึ่ง คุณพ่อก็เลี้ยวรถกลับมา
แต่สิ่งที่เกินความคาดหมายของฉันก็คือ
คุณพ่อ...ไม่ได้กลับมาช่วย แต่เขากลับมาเพื่อบอกประโยคหนึ่งกับลูกตัวเองว่า
น้อง......ครับ พ่อว่า ให้ลูกเปลี่ยนจากออกแรงตะเบ็งเสียง
มาเป็นออกแรงปั่นจักรยานดีกว่านะครับ
แล้วคุณพ่อใจเด็ด ก็ปั่นจักรยานต่อไป...
ส่วนลูกชาย...ก็ค่อยๆลดเสียงลง แล้วปั่นจักรยานคันน้อยต่อไปอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก
หลายครั้ง...ที่บางคนอาจเคยทำตัวคล้ายๆกับเด็กน้อยคนนี้
แต่เราจะรู้บ้างมั้ยว่า
ในตัวเรา ก็สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง
จาก เด็กน้อยเป็น คุณพ่อได้ในเวลาเดียวกัน
เมื่อไหร่ที่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองกำลัง ไม่ไหว
อยากให้ลองถามตัวเองดูใหม่ว่า
ที่ ไม่ไหว นั้นน่ะ เป็นเพราะเรา...แค่ไม่อยากจะสู้รึเปล่า
มีความจริงอันหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืม ก็คือ
ก่อนที่ทุกคนจะหมดแรงนั้น
ธรรมชาติยังมอบ กำลังเฮือกสุดท้าย ให้เสมอ
และที่เราไม่หยิบมันออกมาใช้
ก็เพราะเราลืมหรือกำลังเหนื่อยกับการตีโพยตีพายอยู่รึเปล่า

ในทุกปัญหาย่อมมีวิธีคลี่คลายที่ถูกจุดและมีช่วงเวลาแก้ที่เหมาะสม
อยู่ที่เราเองเท่านั้น ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ และเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร
ที่สำคัญอย่ายอมแพ้...ถ้ายังไม่หมดเวลา.
 จากหนังสือ : แปลงเพาะชำ วันดีๆ โดย ปูปรุง สำนักพิมพ์ใยไหม
ขอบคุณบทความจาก...ทำดีดอทเน็ต